การเลือกใช้หน้ากากเซฟตี้
ออกซิเจนในอากาศเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์รวมถึงมนุษย์ ต่างก็ต้องอาศัยอากาศบริสุทธิ์ในการดำรงชีวิตเพื่ออยู่รอด แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการมนุษย์ ทำให้บางครั้งอาจส่งผลกระทบทางอากาศต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ กลายเป็นภาวะที่ไม่ปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ไม่ว่าจะฝุ่นควันจากการเผาไหม้ หรือกลิ่นสารเคมีในอุตสาหกรรมการผลิต หรือแม้แต่ เชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย ที่ลอยอยู่ในโรงพยาบาลและแลปวิจัย อันสุ่มเสี่ยงสูงที่การสูดอากาศจะมีสิ่งปนเปื้อนเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ทางเดียวที่จะป้องกันอันตรายจากสิ่งเหล่านี้ได้ องค์ประกอบพื้นฐานที่สุดนั่นก็คือหน้ากากป้องกันทางเดินหายใจ หรือหน้ากากเซฟตี้ เพื่อช่วยกรองอากาศและป้องกันสิ่งสกปรกอันไม่พึงประสงค์เข้าสู่ทางเดินหายใจของเรานั่นเอง
โดย หน้ากากเซฟตี้ หรือ หน้ากากป้องกันนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ นั่นก็คือ หน้ากากประเภทส่งอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในหน้ากาก และหน้ากากประเภทกรองอากาศก่อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยหน้ากากทั้ง 2 อย่างนี้จะมีอะไรแตกต่างกันบ้างมีดังต่อไปนี้
1.หน้ากากประเภทส่งอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในหน้ากาก (Atmosphere – supplying respirator)
หน้ากากชนิดนี้เป็นหน้ากากประเภทใช้ร่วมกับอุปกรณ์ส่งอากาศหรือถังออกซิเจน เพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ซึ่งไม่สามารถป้องกันด้วยวิธีการแบบทั่วไปได้ อุปกรณ์ชนิดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆดังต่อไปนี้
1.1 ชนิดส่งอากาศแบบพึ่งพาท่อ (Supplied air respirator)
อุปกรณ์ชนิดนี้จะใช้ตัวเก็บหรือถังออกซิเจน วางไว้อยู่ภายนอกและส่งอากาศมาตามท่อไปยังหน้ากากของผู้สวมใส่ ด้วยข้อดีของอุปกรณ์ชนิดนี้คือมีปริมาณความจุของออกซิเจนที่มีมากกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ สามารถเติมออกซิเจนในพื้นที่ปลอดภัยได้เรื่อย ๆ ทำให้ผู้สวมใส่มีเวลาปฏิบัติภารกิจได้นานยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียคือมีพื้นที่จำกัดในการเคลื่อนที่เนื่องจากต้องอยู่ในระยะที่ท่อออกซิเจนส่งไปถึง
1.2 ชนิดที่ตัวส่งอากาศติดตามผู้ใส่ ( Self-contained breathing apparatus หรือ SCBA )
พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถพกตัวบรรจุออกซิเจนไปด้วยได้นั่นเอง โดยถังออกซิเจนนั้นจะมีความจุที่อยู่ได้นานราว 4 ชั่วโมง โดยอุปกรณ์ชนิดนี้นั้นจะมีสายรัดสำหรับแบกถังออกซิเจน และตัวควบคุมแรงดันอากาศมาให้สำหรับเพิ่มปริมาณ หรือลดปริมาณออกซิเจน ที่ไหลมาตามท่อส่งเข้าสู่หน้ากาก โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะมีหลักการทำงานอยู่ 2 แบบด้วยกันทั้งแบบวงจรเปิดที่จะใช้อากาศจากถังออกซิเจนโดยตรง และแบบวงจรปิดที่ใช้อากาศหายใจเข้าสู่กระบวนการไหลเวียนเพื่อนำอากาศกลับมาใช้อีกครั้ง ผ่านการใช้ออกซิเจนเหลวหรือออกซิเจนแข็ง
2.ประเภทกรองอากาศก่อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
เป็นหน้ากากที่ไม่ใช้ถังออกซิเจนในการช่วยสนับสนุน แต่ใช้ตัวกรองอากาศที่ติดมากับหน้ากากกรองอากาศให้มีความบริสุทธิ์ที่สุดก่อนจะส่งอากาศไปให้หายใจ โดยสารแขวนลอยในอากาศไม่ว่าจะเป็น ฝุ่น ควัน มิสท์ หรือเศษละอองจากการเผาไหม้ จะถูกตัวกรองสกัดจับเอาไว้ไม่ให้ไหลผ่านเข้าไปยังระบบหายใจของมนุษย์ อีกทั้งตัวหน้ากากนั้นยังใช้งานง่ายพกพาสะดวกกว่าอีกด้วย ซึ่งหน้ากากชนิดนี้จะถูกเลือกใช้ในปริมาณของมลภาวะที่ไม่หนักรุนแรงถึงขั้นต้องใช้แบบพ่วงกับถังออกซิเจน หากมลภาวะนั้นชั้นกรองของหน้ากากเอาอยู่ ก็จะกลายเป็นทางเลือกที่คล่องตัวกว่า