สารพัดประโยชน์ของ แม่เหล็ก
แม่เหล็กคือแร่ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษอันแตกต่างกับแร่ธาตุอื่น ๆ สามารถสร้างแรงดูดเพื่อให้เหล็กขยับมาติดกับแม่เหล็กได้ โดยไม่ต้องผ่านการดัดแปลงแร่ธาตุใด ๆ นอกจากนี้คุณสมบัติของแม่เหล็กยังสามารถสร้างสนามแม่เหล็ก(บริเวณที่มีพลังแม่เหล็กส่งแรงไปถึงกัน)ในการปล่อยแรงผลักหรือสร้างแรงดูดไปมาซึ่งกันและกันได้ โดยอำนาจทางพลังงานเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าได้ กลับกันพลังงานกระแสไฟฟ้าเองก็สามารถทำให้เกิดแรงดึงดูดของแม่เหล็กได้ด้วยเช่นกัน นับเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีความพิเศษและมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
คุณสมบัติของแม่เหล็ก
1.ไม่ว่าแม่เหล็กจะมีรูปร่างเป็นแบบใดก็ตาม แม่เหล็กจะมี 2 ขั้วเสมอ โดยสามารถค้นหาตำแหน่งและระบุขั้วได้จากการนำแม่เหล็กไปห้อยหรือแขวนปล่อยให้ห้อยกลางอากาศแล้วปล่อยให้แม่เหล็กหันหน้าไปมาอย่างอิสระ เมื่อแม่เหล็กหยุดนิ่ง ด้านที่หันไปทางทิศใต้คือขั้วใต้ (S) และด้านที่หันไปทางทิศเหนือคือ ขั้วเหนือ (N)
2.หากนำแม่เหล็กที่มีขั้วเดียวกัน 2 อัน มาหันหน้าชนกัน แม่เหล็กจะเกิดแรงผลักออกจากกัน แต่ถ้าหากนำแม่เหล็กคนละขั้วมาหันหน้าเข้าหากัน แม่เหล็กจะเกิดการดูดติดกัน
3.ไม่ว่าแม่เหล็กจะหันหน้าไปทางขั้วใด แม่เหล็กก็จะสามารถดูดสารเหล็กให้เข้ามาติดกันได้เสมอ
4.แรงดูดจะเริ่มน้อยลง เมื่ออยู่ห่างจากบริเวณปลายขั้วแม่เหล็กไม่ว่าจะอยู่ทิศใดของขั้วแม่เหล็กก็ตาม
5.แม่เหล็กจะมีเส้นแรงทิศทางจากขั้วเหนือไปยังขั้วใต้ได้สามมิติ
การสร้างแม่เหล็ก
ความจริงแล้วเราสามารถสร้างเหล็กที่มีคุณสมบัติของแม่เหล็กขึ้นมาได้เอง จากโลหะหรือเหล็กบางชนิด โดยวิธีการนั้นให้นำแม่เหล็กไปถูกับเหล็กธรรมดาทั่วไป หรือการนำเหล็กไปวางในสนามแม่เหล็ก ก็จะได้เหล็กที่มีคุณสมบัติของแม่เหล็กออกมา ซึ่งแร่เหล่านี้จะถูกเรียกว่าสารแม่เหล็ก หรือ Magnetic Substance แต่การแสดงคุณสมบัติของแม่เหล็กนั้นก็มีความแตกต่างออกไปตามวัสดุที่ใช้ โดยสามารถแบ่งประเภทลักษณะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ 2 แบบดังต่อไปนี้
1.แม่เหล็กชั่วคราว (Temporary Magnet)
เป็นการนำ เหล็กอ่อน มาทำเป็นแม่เหล็กชั่วคราวโดยวิธีการใช้สนามแม่เหล็กเป็นตัวเหนี่ยวนำ โดยเมื่อเหล็กเหล่านั้นถูกนำออกจากสนามแม่เหล็ก เหล็กก็จะสูญเสียคุณสมบัติของแม่เหล็กและกลายเป็นเหล็กธรรมดาทั่วไปในทันที โดยแม่เหล็กแบบชั่วคราวนี้นิยมนำไปใช้เป็นแม่เหล็กไฟฟ้าในอุปกรณ์และอะไหล่ต่าง ๆ ของรถยนต์ อาทิ โซลินอยด์ หรือ คอยล์ เป็นต้น
2.แม่เหล็กถาวร (Permanent Magnet)
เป็นการนำ เหล็กกล้า หรือ โลหะแข็งผสม เช่น นิเกล+โคบอลต์ และ นิเกิล+เหล็ก ไปเหนี่ยวนำกับแม่เหล็ก โดยเมื่อแร่เหล่านี้ผ่านขั้นตอนที่เหมาะสมในการเหนี่ยวนำกับแม่เหล็ก จะทำให้เหล็กเหล่านั้นได้รับคุณสมบัติแม่เหล็กติดตัวไปแบบถาวรโดยไม่สูญสลายเอง ซึ่งแม่เหล็กถาวรชนิดนี้จะนิยมถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ แอมป์มิเตอร์ และ โวลต์มิเตอร์
ปัจจุบันแม่เหล็กได้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญ ในการทำเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ มากมาย เนื่องจากมีความจำเป็นในการใช้แม่เหล็กหรือต้องการคุณสมบัติของแม่เหล็กไปใช้ประกอบเพื่อสร้างประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งก็มีอุปกรณ์ มากมายที่ใช้คุณสมบัติของแม่เหล็กในการทำงาน ดังนั้นแม่เหล็กจึงถือเป็นแร่อีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง