สารพันประโยชน์ของ ไมโครโฟน
ไมโครโฟน คืออุปกรณ์ขยายเสียงที่มีบทบาทในการนำไปใช้งานได้หลายด้านในภาคเสียง ให้ความอำนวยและเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ นับตั้งแต่มีการพัฒนาขึ้นมา โดยไมโครโฟนนั้นถูกนำมาใช้ทั้งการสื่อสารที่ต้องการขยายเสียง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในด้านประกาศ หรือแถลงสิ่งใด แก่สาธารณชนในบริเวณโดยรอบที่มีพื้นที่กว้าง หรือช่วยเพิ่มความชัดเจนในการสื่อสารท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวน หรือใช้ในการประชุมและสัมมนาต่าง ๆ ขององค์กรหน่วยงาน รวมไปถึงธุรกิจสถานประกอบการ ต่าง ๆ
และสำหรับการใช้งานอย่างแพร่หลายโดยทั่วไปของประชาชน ก็คือการนำมาใช้งานในด้านบันเทิง ไม่ว่าจะใช้งานในด้าน การเป็นพิธีกรงานเลี้ยง หรืองานสังสรรค์ต่าง ๆ หรือนำมาใช้ในการจัดคอนเสิร์ต เพิ่มเสียงให้กับเครื่องดนตรีและนักร้อง นอกจากนี้ไมโครโฟนยังมีบทบาทสำคัญสำหรับการร้องเพลงคาราโอเกะ จนกลายเป็นอุปกรณ์ที่ประชาชนทั่วไปล้วนนิยมซื้อติดบ้านเอาไว้
อย่างไรก็ตามการนำไมโครโฟนไปใช้ในลักษณะต่าง ๆ นั้น อาจจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภทหลายชนิด หากจะซื้อไมโครโฟน ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าจะนำไปใช้งานในด้านใด ซึ่งไมโครโฟนนั้นมีตั้งแต่ราคาประหยัดย่อมเยาว์เป็นมิตร มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสน ถึงหลักล้าน ที่มีการใช้อุปกรณ์ราคาสูงสำหรับงานประเภทห้องอัดเสียงและ Studio ทั้งนี้ วิวัฒนาการของไมโครโฟนได้มีการพัฒนาและออกแบบเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตามกระแสการพัฒนาของโลก ไมโครโฟนมีทั้งแบบคริสตอลไมโครโฟน เซอรามิคไมโครโฟน คาร์บอนไมโครโฟน คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน และอื่น ๆ
โดยประเภทที่มีความนิยมใช้งานกันมากที่สุดนั่นก็คือ ไดนามิคไมโครโฟน และคอนเดนเซอร์ไมโครโฟน ซึ่งทั้งสองประเภทจะมีข้อแตกต่างกันโดย ไดนามิคไมโครโฟน จะอาศัยระบบการทำงานจากการเคลื่อนที่ของขดลวด ผ่านสนามแม่เหล็กถาวร ใช้แรงเคลื่อนไฟฟ้าตามคลื่นเสียง โดยเป็นโครงสร้างที่มีความแข็งแรงทนทาน และยังมีข้อพิเศษนั่นก็คือสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีไฟเลี้ยง แต่ก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน เพราะไมโครโฟนชนิดนี้จะเก็บรายละเอียดของเสียงได้น้อยกว่าประเภทอื่น โฟกัสไปที่เสียงพูดหรือเสียงร้องแต่ไม่ค่อยเหมาะที่จะนำมาเก็บเสียงบรรยากาศโดยรอบ
ในขณะที่หากเป็นไมโครโฟนแบบ คอนเดนเซอร์ ไมค์ชนิดนี้จะมีโครงสร้างภายในที่ประกอบด้วยแผ่นไดอะแฟรมบาง ๆ รวมไปถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีความไวต่อเสียงสูง อีกทั้งยังสามารถรับช่วงความถี่ของเสียงได้กว้างมากกว่า รวมไปถึงยังให้รายละเอียดของน้ำเสียงที่มีคุณภาพมากขึ้นสามารถนำไปใช้งานได้ในห้องอัดและสตูดิโอ เหมาะแก่การอัดดนตรีประเภทอคูสติก แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่การนำไปใช้ในสภาพแวดล้อม ที่มีเสียงรบกวนมาก ด้วยความที่มันสามารถเก็บรายละเอียดเสียงได้ดีนั่นก็หมายถึงว่ามันจะดูดรายละเอียดของเสียงรบกวนเข้าไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นมันจึงไม่เหมาะกับการนำไปใช้พื้นที่ภายนอก
นอกจากนี้มันยังต้องการใช้ไฟเลี้ยงแรงดันตั้งแต่ 1.5 ถึง 48 โวลท์อีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะสามารถอาศัยคุณภาพของอุปกรณ์ให้ได้เสียงที่ดี แต่ก็ยังจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นร่วมกันด้วย อย่างเช่น การใช้เสียงในห้องที่มีการสะท้อนเสียงที่ดี ก็จะยิ่งช่วยให้ได้ยินเสียงที่มีคุณภาพ การวางตำแหน่งของไมโครโฟนที่เหมาะสมก็จะช่วยได้อีกเช่นกัน ซึ่งผู้ใช้ไมโครโฟนจำเป็นต้องทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ที่ตนเองใช้ ก็จะยิ่งมีความเข้าใจในหลักการใช้งาน จนสามารถใช้อุปกรณ์อย่างขับประสิทธิภาพออกมามากที่สุดได้